Last updated: 26 มี.ค. 2557 | 4298 จำนวนผู้เข้าชม |
น้ำดื่มในขวดจะกินก็ต้องเลือก (แนะวิธีเลือกน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทอย่างไรให้ปลอดภัยต่อร่างกาย!!) |
|||
น้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต เพราะน้ำเป็นตัวทำละลายที่ดีในร่างกาย เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดกระบวนการทางสรีระวิทยาและปฏิกิริยาเคมี (Metabolism) ในร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม ทราบกันใช่ไหมคะว่า ร่างกายของเราจะมีน้ำอยู่ในร่างกายถึง 60-70% และเราควรดื่มที่น้ำสะอาดกันอย่างสม่ำเสมอ ปริมาณน้ำที่แนะนำต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 2 ลิตร หรือที่พูดกันว่า 8 แก้วนั่นเอง มาถึงคำถามที่ว่า แค่น้ำเปล่า ๆ จะอันตรายอย่างไร นั่นเพราะแหล่งน้ำที่นำมาผลิตน้ำดื่มส่วนใหญ่ มาจากแหล่งน้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล อาจมีน้ำปะปา หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติบ้าง แต่ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด อันตรายที่แฝงมากับน้ำได้นั้น หนีไม่พ้นอันตรายทั้ง 3 ทาง คือ ทางกายภาพ เคมี และทางชีวภาพ อันตรายทางกายภาพ อันได้แก่ ฝุ่น ตะกอน สิ่งปลอมปนที่เห็นได้ชัดเจน กรวด หิน ดิน ทราย นี้สามารถขจัดออกได้ง่ายด้วยหลายกระบวนการร่วมกัน ตั้งแต่ การพักน้ำ การตกตะกอนและหลาย ๆ ขั้นตอนของกระบวนการกรอง ส่วนอันตรายทางชีวภาพ ได้แก่พวกเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคที่ปะปนมาจากแหล่งน้ำนั้น สามารถขจัดได้ด้วยหลายวิธี หรือหลายกระบวนการร่วมกัน มีทั้งการเติมคลอรีน การใช้โอโซน ตัวกรองละเอียดหรือเมมเบรนในการขจัดแบคทีเรีย ยูวีในการกำจัดเชื้อ ส่วนอันตรายทางเคมี คือ สารโลหะหนักต่าง ๆ และสารเคมีที่ปะปนมาจากแหล่งน้ำ อันได้แก่ คลอไรด์ สารหนู แคดเมียม แบเรียม เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว ปรอท สังกะสี และสารอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งกระบวนการในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้มักใช้ระบวนการกรองที่ละเอียด เพื่อกำจัด อนุภาคของสารโลหะหนัก หรือสารเคมีที่ปะปนมากับน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่ม และภัยเงียบที่น่ากลัวสำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็คือ กระบวนการผลิตน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ น้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่มีขายโดยทั่วไป จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งสะดวก มีขายอยู่โดยทั่วไปมากมายหลายยี่ห้อ ในแทบทุกสถานที่ และเนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก จึงทำให้ธุรกิจการผลิตน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิทขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำดื่มฯ ออกมาจำหน่ายมากมายในท้องตลาด เมื่อเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวสูง และมีการแข่งขันทางการตลาดกันมาก ก็ย่อมเป็นธรรมดา ซึ่งจะพบปัญหาบ้าง เช่น น้ำดื่มบางยี่ห้อไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน หรือผู้ผลิตบางรายนำเอาขวดหรือถังบรรจุของผู้ผลิตรายอื่นมาใช้บรรจุน้ำของตนออกจำหน่าย แต่ทั้งนี้การกระทำดังกล่าว ผู้ผลิตบางรายอาจไม่รู้ว่ามีกฎหมายควบคุม ทราบกันไหมคะว่าน้ำดื่มในภาชนะที่ปิดสนิทที่เราดื่มกันอยู่นั้น หน่วยงานภาครัฐมีกฏหมายควบคุม และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524) และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) ซึ่งผู้ผลิตต้องขออนุญาตผลิต ขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารและขออนุญาตใช้ฉลากให้ถูกต้องกันด้วยนะคะ ดังนั้น ในการเลือกซื้อน้ำดื่มฯ ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องหมาย อย. ก็ตาม อาจมีการปลอมแปลงขึ้นมาได้ จึงควรสังเกตและพิจารณาให้ดี โดยมีข้อสังเกตดังนี้ 1) ลักษณะของภาชนะบรรจุต้องสะอาด ไม่รั่วซึม หรือมีรอยสกปรก ถ้าบรรจุในภาชนะที่เป็นพลาสติก ภาชนะต้องสะอาด ไม่มีความปนเปื้อน ฝาปิดต้องสนิทและมีพลาสติกรัดอีกชั้นหนึ่งหรือถ้าเป็นขวดแก้ว ก็ต้องสะอาด ฝาปิดสนิทเช่นกัน ฝาที่ปิดผนึกหากเป็นชนิดขวด จะต้องไม่มีร่องรอยว่ามีการเปิดใช้ และหากเป็นชนิดถังต้องมีห่วงพลาสติกผนึกรอบฝาจุกกับปากถัง 2) ตรวจดูฉลากให้ดีว่ามีรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ ได้แก่ ชื่อน้ำดื่ม เลขทะเบียนตำรับ หรือเลขที่อนุญาตให้ใช้ฉลาก ซึ่งจะแสดงในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อผู้ผลิตและสถานที่ตั้ง และปริมาตรสุทธิ 3) สภาพของน้ำหรือลักษณะของน้ำ ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ ไม่มีสี กลิ่น หรือรสที่ผิดปกติ ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีที่อยู่แน่นอน หรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป มีการเก็บรักษาที่ดี ไม่วางปะปนกับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย 4) การเลือกซื้อน้ำชนิดถัง ควรตรวจสอบให้ดีว่าฉลากที่ถัง กับพลาสติกที่รัดปากถัง เป็นของผู้ผลิตเดียวกันหรือไม่ เพราะผู้ผลิตบางรายจะเก็บถังของผู้ผลิตรายอื่นมาบรรจุน้ำของตน 5) ไม่ควรซื้อตามคำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้าง เช่น มีแร่ธาตุครบตามที่ร่างกายต้องการ เป็นต้น เพราะน้ำดื่มจัดเป็นสิ่งสำคัญมาก และร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมากต่อวัน ผู้บริโภคที่รักสุขภาพอย่างเรา ๆ จึงไม่ควรมองข้ามในการเลือกซื้อ เลือกบริโภค ให้ได้น้ำดื่มที่มั่นใจว่ามีคุณภาพ ปลอดภัย และผ่านตามมาตรฐานที่กฏหมายกำหนดจริง เพราะหากน้ำดื่มที่เราดื่มเป็นประจำนั้น ไม่ได้มาตรฐาน จะส่งผลถึงความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว โดยการสะสมของสารโละหนักตกค้างที่เข้าสู่ร่างกายจากน้ำดื่มนั้นทุกวันๆ จึงเป็นที่มาของโรค และความผิดปกติต่าง ๆ กับร่างกายได้ ใส่ใจและพิถีพิถันกันสักนิดนะคะ ก่อนหยิบน้ำ ดื่มเข้าสู่ร่างกายของเรากัน |
|||
ที่มา : http://www.dailynews.co.th | |||
29 ต.ค. 2556
29 ต.ค. 2556
29 ต.ค. 2556
29 ต.ค. 2556